Coffee blog -->
ระดับความสูงมีผลต่อคุณภาพของกาแฟจริงหรือ?


ระดับความสูงมีผลต่อคุณภาพของกาแฟจริงหรือ?
ข้อความต่อไปนี้เป็นข้อมูลและความคิดเห็นส่วนตัว ขอเน้นย้ำว่าส่วนตัวนะครับ หากท่านใดมีข้อมูลขอความกรุณาช่วยกันแสดงความเห็นด้วยแล้วกันนะครับ
สิ่งที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันในวงการกาแฟบ้านเรา และยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปตามเหตุผลของแต่ละบุคคล นั่นก็คือ “ระดับความสูงเท่าไหร่ที่เหมาะสมกับการปลูกกาแฟอราบิก้า?” ความจริงแล้วความสูงจากระดับน้ำทะเลมีผลโดยตรงต่อความกดอากาศ ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ อุณหภูมิและช่วงแสง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ก็มีผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของพืช มากน้อยแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของพืช ยกตัวอย่างเช่นส้มโชกุลที่เคยปลูกกันที่ภาคใต้มีลักษณะผลสีเขียวอมเหลืองเปลือกติดเนื้อแต่พอมีการนำพันธุ์มาทดลองปลูกที่อำเภอฝางจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าผลส้มกลับมีสีส้มทองเปลือกร่อน ผมเองได้มีโอกาสเก็บข้อมูลคร่าวๆ เกี่ยวกับการออกดอกติดผลของกาแฟ ขอพูดถึงกาแฟอราบิก้าก่อนแล้วกันนะครับ เปรียบเทียบข้อมูลจากแปลงปลูกกาแฟอราบิก้าที่ระดับความสูง 400 เมตรกับ 1,200 เมตร พื้นที่อำเภอแม่สรวยจังหวัดเชียงราย ปกติแล้วกาแฟอราบิก้าจะเริ่มออกดอกช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนซึ่งมีอิทธิพลจากฝนหลงฤดูในช่วงฤดูร้อน โดยจะออกดอกประมาณ 3 ชุดแต่ละชุดจะบานอยู่ได้แค่ประมาณ 3 วันก็จะเหี่ยวและร่วงไปจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ช่วงปลายเดือนตุลาคม-มกราคมของทุกปี จากการเก็บข้อมูลพบว่ากาแฟอราบิก้าที่ปลูกบนระดับความสูง 400 เมตรและ 1,200 เมตร จะออกดอกติดผลพร้อมๆกันปริมาณการติดผลผลิตก็ใกล้เคียงกัน แต่ กาแฟอราบิก้าที่ความสูง 400 เมตรจะมีช่วงระยะเวลาในการพัฒนาจากดอกไปจนถึงเก็บเกี่ยวเร็วกว่าประมาณ 15-30 วัน ทั้งนี้น่าจะมีผลมาจากช่วงเวลาที่เก็บเกี่ยวตรงกับฤดูหนาวและบนพื้นที่สูงมีอุณหภูมิที่ต่ำกว่าจึงทำให้การสุกของกาแฟช้าลง
ส่วนกาแฟโรบัสต้าได้ทำการเก็บข้อมูลจากแปลงปลูกของผมเองในอำเภอแม่สรวยจังหวัดเชียงราย ต้นกาแฟอายุ 4 ปี เนื้อที่ 3 ไร่ นำพันธุ์มาจากจังหวัดชุมพร เปรียบเทียบกับกาแฟโรบัสต้าที่ปลูกในอำเภอสวีจังหวัดชุมพร ได้ข้อมูลที่แตกต่างกันพอสมควร โดยกาแฟโรบัสต้าที่เชียงรายจะออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณเดือนธันวาคม-มกราคม ส่วนกาแฟโรบัสต้าที่ปลูกในจังหวัดชุมพร จะออกดอกช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ซึ่งเป็นช่วงปลายมรสุม และจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนของทุกปี จากข้อมูลที่ได้ทำให้ผมนึกถึงคำพูดที่ว่า “ข้าวสุกจากเหนือลงใต้ผลไม้สุกจากใต้ขึ้นเหนือ” สำหรับผลต่อรสชาติของกาแฟนั้นคงเป็นเรื่องยากที่จะสรุปว่าดีหรือไม่ดีเนื่องจากยังไม่มีเครื่องมือใดสามารถตรวจวัดได้ ก็เหมือนกับอาหารและเครื่องดื่มทั่วไปที่ต้องใช้การชิมในการทดสอบรสชาติ เรื่องของรสชาตินั้นเป็นความชื่นชอบของแต่ละบุคคลซึ่งมีความหลากหลายแตกต่างกันไป อีกอย่างก็คือยังมีอีกหลายปัจจัยที่มีผลต่อรสชาติของกาแฟ เช่น
-สายพันธุ์ของกาแฟ
-แหล่งปลูก(ความอุดมสมบูรณ์ของดินที่ปลูก)
-การดูแลรักษาของเกษตรกร
-ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวผลผลิต
-ขั้นตอนการแปรรูปเป็นสารกาแฟดิบ
-ขั้นตอนการคั่ว
-วิธีการเก็บรักษาเมล็ดกาแฟคั่ว
-และที่สำคัญที่สุดคือขั้นตอนการชงกาแฟ
ในทุกๆปัจจัยที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อรสชาติของกาแฟทั้งนั้น หากขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งมีปัญหาแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อรสชาติของกาแฟอย่างแน่นอน อย่างไรก็แล้วแต่ในส่วนตัวผมเองก็อยากจะขอให้ทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกาแฟ ช่วยกันพัฒนาคุณภาพของกาแฟไทยให้ดียิ่งๆขึ้นไปสู่ระดับสากลเลยแล้วกันนะครับขอบคุณครับ